วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

วิธีเลี้ยงไก่อินทรีย์และสูตรอาหารลดต้นทุน

วิธีเลี้ยงไก่อินทรีย์และสูตรอาหารลดต้นทุน


ข้อแตกต่างของการเลี้ยงไก่ไข่ที่อยู่ในกรงและไก่ไข่อินทรีย์แบบปล่อย

  • ไก่ไข่ที่เลี้ยงในกรง จะมีอายุการให้ไข่ไม่เกิน 1 ปีครึ่ง
  • ไก่ไข่อินทรีย์ เลี้ยงแบบปล่อย จะมีอายุการให้ไข่ 2 ปีขึ้นไป
  • การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย ไก่ไข่อารมณ์ดี
  • เลี้ยงแบบปล่อย ไก่ได้แสดงพฤติกรรมธรรมชาติ ไม่เครียด ไก่ได้คุ้ยเขี่ย ไซร้ปีก คลุกฝุ่น ไข่ในรัง นอนคอน อยู่กันแบบรวมกลุ่มไก่ได้จิกกินอาหารธรรมชาติ หญ้า สมุนไพร หนอนและแมลง ไก่ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ


ข้อดีของการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย ไก่ไข่อารมณ์ดี

  • ไก่มีความสุข อารมณ์ดี ทำให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค
  • ไก่ได้รับอาหารธรรมชาติ ให้ไข่เป็นไปตามธรรมชาติ มีคุณค่าทางอาหารสูง
  • เหมาะสำหรับการเลี้ยงกับเกษตรกรรายย่อย ใช้อาหารสัตว์ที่มีในท้องถิ่น
  • ผลิตไข่และบริโภคในชุมชน สนับสนุนอาชีพให้กับเกษตรกรรายย่อย
  • ไข่ไก่ที่ได้จากการเลี้ยงแบบปล่อย ไก่ไข่อารมณ์ดี
  • ไข่ขาวข้นเห็นได้ชัดเจน
  • ไข่แดงนูนเด่น รสชาติดี
  • ไม่เสี่ยงต่อสารเคมียาสัตว์ตกค้าง
  • มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า
  • แม่ไก่อารมณ์ดี ได้รับการดูแลด้วยความรัก เพราะถูกเลี้ยงปล่อยแบบอิสระตามธรรมชาติอยู่ในฟาร์มเล็กๆ ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกเย็นสบาย ร่มรื่น ไม่ต้องอุดอู้อยู่ในกรงตลอดเวลา แม่ไก่จึงไม่เครียดและให้ไข่ที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ


อาหารหลักของแม่ไก่เป็นอาหารชั้นดี

           คือ ข้าวโพดปลอดสารพิษที่ปลูกขึ้นเฉพาะ กากถั่วเหลือง รำข้าว ปลาป่น และทำน้ำสมุนไพรชีวภาพให้แม่ไก่กิน ทำให้แม่ไก่แข็งแรง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ไข่แดงจะออกเป็นสีเหลืองธรรมชาติ เพราะไม่ได้ใช้สารเร่งเพื่อทำให้มีสีแดงสดอย่างฟาร์มอื่นทั่วไปใช้กันไข่ขาวจะไม่มีความแน่น ไม่คาวจัด จึงสัมผัสถึงความอร่อยของไข่จากแม่ไก่อารมณ์ดี ได้อย่างสนิทใจ   นำน้ำหมักชีวภาพเป็นโปรไบโอติค (สิ่งส่งเสริมชีวิต) ซึ่งตรงกันข้ามกับสารที่ฟาร์มไก่ทั่วไปใช้คือ แอนติไบโอติค (สิ่งทำลายชีวิต) หรือยาปฏิชีวนะผลที่ตามมาอย่างน่าพอใจคือ ทำให้ไก่สดชื่นมีภูมิคุ้มกันโรค เป็นการถอนยาปฏิชีวนะของจากไก่ได้  ไก่ปล่อยมีความเป็นอิสระ ได้รับการดูแลด้วยความรัก ไม่ใช่ถูกขังอยู่ในคอนโดไก่ที่มีหน้าที่เพียงออกไข่และรอวันตาย แต่แม่ไก่สุขภาพดี จึงทำให้ไข่ไก่คุณภาพดีด้วย….ผลผลิตที่ฟาร์มภูมิใจเสนอต่อผู้บริโภคที่เข้าถึงความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกว่าจะเป็นไก่ไข่อารมณ์ดี



อาหารไก่ไข่ลดต้นทุน ที่ขอแนะนำ เป็นสูตรอาหารของคุณบุญล้อม เต้าแก้ว 

(นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยให้ไก่ไข่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค ลดกลิ่นเหม็นของมูลไก่ ไข่ไก่สีสวย ไข่แดงสดใส)



วัตถุดิบ

  • หยวกกล้วยหั่นละเอียด 20 กิโลกรัม
  • กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
  • เกลือเม็ด 1/2 กิโลกรัม

ขั้นตอน

  • ใส่ส่วนประกอบทั้ง 3 ลงไปในถังหมัก แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  • ปิดฝาถังหมัก เก็บไว้ที่ร่มประมาณ 7 วัน

อัตราส่วน

  •  ใช้ผสมกับหัวอาหาร โดยมีอัตราส่วนดังนี้ สูตรอาหารไก่ไข่ลดต้นทุน 1 กก. ต่อ หัวอาหารไก่ไข่ 10 กก. ต่อไก่ 30 ตัว ต่อวัน (นำไปให้ไก่ไข่กินวันละ 2 เวลา เช้าและเย็น)หรือใช้สูตรอาหารหมัก โดยใช้ส่วนประกอบดังนี้

  •   หยวกกล้วยหั่นและทุบให้นิ่ม 30 กก.
  •   ข้าวลีบ 10 กก.
  •   รำละเอียด 10 กก.
  •   ปลายข้าว 1.5 กก.
  •   น้ำตาลทรายแดง 1 กก.
  •   เกลือ 200 กรัม
  •   ขี้วัวแห้งบดละเอียด 4 กก.
  •   ดินแดงร่วน 2 กก.

วิธีทำ

  •    เติมส่วนประกอบทั้งหมดลงไปในถังหมัก คลุกเคล้าให้เข้ากัน
  •    เตรียมน้ำสะอาด 20 ลิตร แล้วเติมน้ำหมักจุลินทรีย์ 40 ซีซี และกากน้ำตาล 40 ซีซี
  •    ค่อยๆเทน้ำลงไปในถังหมัก คลุกเคล้าให้เข้ากันจนจับกันเป็นก้อน
  •    ปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่ร่ม ทิ้งไว้ 7 วัน หลังจากนั้นสามารถนำไปให้ไก่ไข่กินได้ เช้า และเย็น ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนค่าอาหารมากกว่าอาหารสำเร็จรูป 3 เท่า



เทคนิคการใช้ผักตบชวาให้ไก่ไข่กินเป็นอาหารเสริม

วิธีการ

  • นำผักตบชวาที่เก็บได้ในท้องถิ่น มาทำการโยนให้ไก่ไข่กินในช่วงเช้า วันละ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 กิโลกรัม หลังจากไก่ไข่กินใบผักตบชวาหมด ให้ทำการหว่านข้าวเปลือกตามไปให้ไก่กินอีกวันละ 6 กิโลกรัม แค่นี้ไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ก็จะมีสุขภาพดี ท้องเย็น ไม่ป่วยง่ายและยังให้ผลผลิตไข่ดีอีกด้วย


หมายเหตุ : เศษผักตบชวาที่เหลือ จะผสมกับมูลไก่ กลายเป็นปุ๋ยอย่างดี สามารถนำไปใส่พืชที่ปลูกไว้ได้เป็นอย่างดี

การขยายพันธุ์ไก่ไข่

ในระหว่างการเลี้ยงแบบอินทรีย์นี้ อัตราส่วนที่เหมาะสม ปล่อยไก่ตัวผู้ 1 ตัว ต่อไก่ไข่ตัวเมีย 5 ตัว ทั้งนี้เพื่อการเพาะพันธุ์ลูกไก่ไข่ โดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อไก่ไข่สาวมาเลี้ยง ที่ราคาค่อนข้างแพง การขยายพันธุ์เองนี้ นอกจากจะประหยัดค่าไก่ไข่แล้วยัง สามารถให้เรารู้ถึงรุ่นไก่ไข่ในแต่ละรุ่น

แผนการเลี้ยงไก่ไข่แบบประหยัด พอเพียง แนวอินทรีย์

       หากเราจะเลี้ยงไก่ไข่แบบอินทรีย์อย่างจริงจัง ให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแล้วล่ะก็ ควรจะมีการวางแผนที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยงหรือก่อนเลี้ยงไก่ไข่ โดยเริ่มต้นเลี้ยงที่จำนวนน้อยๆสัก 10-20 ตัว แล้วค่อยเพิ่มจำนวน เราจะได้ใกล้ชิด และสังเกตุพฤกติกรรมของไก่ไข่ รวมถึงอาหารการกิน และโรคที่เกิดขึ้นกับไก่ไข่ ในระหว่างการฝึกหัดเลี้ยงนั้น ควรจัดสถานที่เพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ไว้เอง (เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง โดยไก่ไข่ 1 ตัว / ตารางเมตร)  เช่น กล้วย ข้าว ผักสวนครัวจำพวกกวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า ข่า ตะไคร้ พริก มะละกอ ตำลึง กระถิน สำหรับเป็นอาหารหลัก อาหารเสริมของไก่ไข่ ส่วนฟ้าทะลายโจร ลูกใต้ใบ ต้นโทงเทง หนุมานประสานกาย เป็นสมุนไพรสำหรับไก่ไข่ ให้ไก่ทนทานต่อโรคและรักษาโรคต่างๆ จัดสัดส่วนของพื้นที่ให้เหมาะสม และที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำเพิ่มคือ การปลูกกล้วยน้ำว้า และหน่อไม้ เพื่อจัดเป็นแหล่งคุ้ยเขี่ยหากินแมลงและปลวกของไก่ไข่ ตามธรรมชาติ การเลี้ยงแบบนี้จะช่วยให้ไก่ไข่อารมณ์ดี สุขภาพแข็งแรง อายุยืน และจะช่วยให้เรามีรายได่ต่อที่สอง คือสามารถนำกล้วย และหน่อไม้ไปขายได้อีกทางหนึ่ง




ที่มา: farmlandthai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น